เป๊ปซี่โคประกาศรายชื่อ 10 สตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการ “Greenhouse Accelerator” หรือ GHAC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 3 ซึ่งถือเป็นการเปิดเวทีให้นวัตกรรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนอนาคตในด้านต่าง ๆ อาทิ การเกษตรอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำในการดำเนินธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ เข้าถึงเครือข่ายทางธุรกิจของเป๊ปซี่โค และได้รับโอกาสในการทดลองแนวทางแก้ปัญหาธุรกิจแบบเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยต่อยอดแนวคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่สามารถขยายผลได้ และเสริมสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

โครงการ “Greenhouse Accelerator” ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโครงการแต่ละปีจะเน้นประเด็นสำคัญในระดับภูมิภาค อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู การเพิ่มประสิทธิภาพของดิน ไปจนถึงการพัฒนาโซลูชันคาร์บอนต่ำในบรรจุภัณฑ์และโลจิสติกส์ สิ่งที่ทำให้โครงการ Greenhouse Accelerator แตกต่างจากโครงการแข่งขันอื่น ๆ คือเรื่องของโมเดลการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งทำให้เหล่าผู้ประกอบการได้มีโอกาสขัดเกลาโซลูชันของพวกเขาไปพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากทางเป๊ปซี่โค ได้ทดลองลงมือทำจริง รวมถึงได้มองหาแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อต่อยอดการเติบโตต่อไปในห่วงโซ่ของภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการ Greenhouse Accelerator โดยมีสตาร์ทอัพจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปี 2566 และ 2567 ซึ่งตัวแทนแต่ละทีมล้วนมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทีม Green2Get ที่พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การรีไซเคิลให้สามารถซื้อขายวัสดุกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการรีไซเคิลที่ยั่งยืนในสังคม ทีม AllEV ที่ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านโมเดลสมัครสมาชิก สำหรับธุรกิจที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทีม CIRAC ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลโดยใช้กระบวนการไพโรลิซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นการย่อยขยะพลาสติกโดยไม่ใช้ออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นอลูมิเนียมและน้ำมันที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ Greenhouse Accelerator ได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการเฟ้นหาแนวคิดเชิงนวัตกรรมที่กล้าท้าทายโจทย์ใหญ่ด้านความยั่งยืนที่เร่งด่วนที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายเรื่องสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลก และการเพาะปลูกที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น สิ่งที่เราตื่นเต้นที่สุดคือการได้เห็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้อย่างเชื่อมโยงทั้งในระดับชุมชนและในเวทีโลก ซึ่งเราพร้อมจะสนับสนุนผู้เข้ารอบเหล่านี้ ตลอดจนเรียนรู้จากพวกเขาในการสำรวจแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะสามารถขยายผลได้ พร้อมต่อยอดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยโครงการ Greenhouse Accelerator แต่ละครั้งได้มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อีโคซิสเต็มของเหล่าผู้ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราตั้งหน้าตั้งตารอดูว่าบรรดาผู้เข้ารอบสุดท้ายของโครงการในปีนี้จะสามารถปลดล็อคสิ่งใหม่ ๆ อะไรได้บ้าง ทั้งจากในระหว่างการเข้าร่วมโครงการและในอนาคตต่อจากนี้” Anne Tse ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เป๊ปซี่โค ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
ผู้เข้ารอบสุดท้ายโครงการ Greenhouse Accelerator APAC ปี 2025 ได้แก่:
-
Calyx.eco (จากประเทศออสเตรเลีย)
-
Endua (จากประเทศออสเตรเลีย)
-
Beijing AIForce Technology Co. Ltd. (จากประเทศจีน)
-
Beijing Phabuilder Biotechnology Co. Ltd. (จากประเทศจีน)
-
Guangdong Databeyond Technology Co. Ltd. (จากประเทศจีน)
-
Service Enviro SCAD Inc. (จากประเทศจีน)
-
Shanghai Electric Group Co. Ltd. Central Academe (จากประเทศจีน)
-
Bali Waste Cycle (CV Bakti Bumi Berseri) (จากประเทศอินโดนีเซีย)
-
Circular Unite (จากประเทศสิงคโปร์)
-
DEEGOLABs Inc (จากประเทศเกาหลีใต้)
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะมีเป้าหมายทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการของเสีย การเกษตร บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด แต่สิ่งที่ยึดมั่นร่วมกันคือ ความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยั่งยืน ผ่านการใช้ AI ในการช่วยประเมินวัฏจักรชีวิตการเกษตรแบบแม่นยำ การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ และระบบกักเก็บพลังงานผ่านเกลือหลอมเหลว สตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถสร้างนวัตกรรมที่เติบโตได้ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการผลิตคุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่ออุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน และการจัดการของเสีย

นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีสตาร์ทอีกหลายทีมที่นำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างงานที่ครอบคลุม และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในชุมชน โดยทีมที่เข้ารอบจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ จะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรทางการตลาดระดับโลกจากเป๊ปซี่โค รวมถึงการได้รับคำปรึกษาเฉพาะทางและเนื้อหาการเรียนรู้จากผู้บริหารของเป๊ปซี่โค และพันธมิตรระดับโลก เพื่อช่วยแก้ปัญหาความท้าทายในเรื่องการขยายธุรกิจ ปรับกลยุทธ์ และการขยายผลสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทีมที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างโดดเด่นที่สุดจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อยอดการขยายผลเชิงพาณิชย์
นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ Greenhouse Accelerator ได้มอบทุนสนับสนุนไปแล้วมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และริเริ่มโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 16 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมทั้งโรงงานและฟาร์มกว่า 11 แห่งทั่วภูมิภาค ในระดับโลก โครงการนี้ได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 112 บริษัท และมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คนเข้าร่วมให้คำปรึกษา โดยกว่า 80% ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ผู้ชนะจากโครงการในปี 2566 และ 2567 ได้แก่ Alternō และ Powered Carbon รวมถึงผู้เข้ารอบอย่าง X-Centric และ Enwise ที่ได้พัฒนาความร่วมมือกับเป๊ปซี่โคเพิ่มเติมต่อยอดจากโครงการ

เป๊ปซี่โคตระหนักดีว่าความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจนั้นเชื่อมโยงกับสภาพของสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของระบบห่วงโซ่อาหารและชุมชน โดยตลอดสองปีที่ผ่านมา โครงการ Greenhouse Accelerator ได้พัฒนาอีโคซิสเต็มของนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เปิดรับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ และขยายการเข้าถึงในระดับภูมิภาค โครงการนี้เป็นเวทีความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และชุมชน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ส่งผลเชิงบวกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ในปีนี้ ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรระดับภูมิภาค ได้แก่ Suntory PepsiCo Beverages Thailand, Suntory PepsiCo Beverages Vietnam, GC Ventures, Circulate Capital, CM Venture Capital, GRC Sino GreenFund และ Plug and Play ซึ่งต่างก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเครือข่ายของนวัตกรให้เติบโตและเชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึงทั้งภูมิภาค
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Greenhouse Accelerator ของ PepsiCo ได้ที่เว็บไซต์ https://greenhouseaccelerator.com/, LinkedIn หรือ X
อ่าน: 178
Comments
comments