LINE ประเทศไทยตอกย้ำความเป็นผู้นำแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ให้ความสำคัญในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลเป็นลำดับแรก ยืนยันปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรัดกุม และเปิดเผยความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ LINE ได้อย่างปลอดภัย พร้อมแนะนำเครื่องมือรีพอร์ทหากพบการส่งต่อข่าวปลอมหรือภัยออนไลน์ทุกรูปแบบบนแพลตฟอร์ม
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ LINE เปิดตัวแอปส่งข้อความ LINE ในปี 2554 LINE ได้มุ่งมั่นให้บริการด้านการสื่อสารที่ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินและรู้สึกสะดวกสบายในตลอดการใช้งาน ด้วยแนวทางการให้บริการที่หลากหลายและคอนเท้นท์ที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการสร้างกฏเกณฑ์การทำงานที่ยึดตามหลักกฎหมายว่าด้วยมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการให้คำอธิบายข้อมูลแก่ผู้ใช้ถึงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรัดกุมและเข้มงวด นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว LINE ยังได้เปิดเผยรายงานความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ LINE ได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม อันตรายจากโลกออนไลน์ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเท่านั้น แต่ภัยที่แพร่หลายหลายคือ การส่งข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม โดยถูกส่งต่อและเผยแพร่ออกไปโดยง่ายโดยไม่พบต้นตอที่แท้จริง จนปัจจุบันถือเป็นวิกฤติข่าวปลอมที่ผู้ใช้งานสื่ออนไลน์ต่างตกเป็นทั้งเหยื่อและผู้เผยแพร่โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จะเห็นว่ามีส่งต่อข่าวปลอมมากมายที่สร้างความเข้าใจผิด สับสนให้สังคม ถือเป็นภัยร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อทั้งระดับบุคล สังคม และความมั่นคงของประเทศ
LINE ประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องการเป็นถนนแห่งการสื่อสารที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้งานได้อย่างง่าย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เรามีเครื่องมือที่ให้ผู้ใช้ได้แจ้งกลับมาในระบบผ่านปุ่ม “Report” ซึ่งเป็นปุ่มที่อยู่ในหน้าสนทนา สามารถรายงานภัยทุกประเภทที่เกิดขึ้นในบนสนทนาหรือข้อความในหน้าสนทนาได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทุกคนช่วยกันตรวจสอบ ข่าวปลอม ร่วมถึงการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ หรือสามารถกดปุ่ม “Report” แอคเคาท์ของบุคคลที่กระทำหรือส่งต่อภัยคุกคามไปยังผู้อื่น โดยเป็นปุ่มลักษณะ จุดสามจุดแนวตั้ง บนหน้าโปรไฟล์ของแอคเคาท์นั้น
“LINE ในฐานะแพลตฟอร์มที่ปลอดภัย มุ่งมั่นในการพัฒนาแพลตฟอร์มของเราเพื่อการใช้งานที่สะดวกและปลอดภัย ขอรณรงค์ให้ผู้ใช้งาน ร่วมกันใช้อย่างมีวิจารณญาณ ร่วมกันตรวจสอบ เช็คก่อนแชร์ข้อความที่ส่งต่อกันมา และกดรีพอร์ตข้อความที่เป็นข่าวปลอมหรือเป็นภัยต่อสังคม เพื่อช่วยกันหยุดการแพร่กระจาย ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาวิกฤติข่าวปลอม และการสื่อสารที่จะนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมาย ได้ในระยะยาว” ดร. พิเชษฐ กล่าวทิ้งท้าย