ขณะที่เด็กๆ หลายคนตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บ่อยครั้งก็พบว่าผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นกลับเป็นผู้ที่นำพาเด็กๆ ให้ตกเป็นเหยื่อคนร้ายด้วยตัวเอง กรณี “ถนนสู่ดวงดาว” คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยกรณีนี้มีการล่อลวงบนโลกออนไลน์ ในรูปแบบของการเป็นโมเดลลิ่งออนไลน์ คนร้ายได้สร้างบัญชีโซเซียลมีเดียปลอม อ้างว่าเป็นแมวมองค้นหาดารานักแสดงหน้าใหม่ พูดคุยทักทายผ่านทางออนไลน์พร้อมทั้งนัดหมายให้เด็กๆ ที่มีความสนใจอยากจะเป็นดารานักแสดงเดินทางมาพบ โดยอ้างว่าเดินทางมาเพื่อทำการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งมีเด็กๆ หลงเชื่อจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีพ่อแม่หลายคนเป็นผู้หยิบยื่นความเสี่ยงนี้ ด้วยการไปส่งลูกพบโมเดลลิ่งออนไลน์ผู้ไม่หวังดีนี้ด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ติดต่อพูดคุยกับโมเดลลิ่งออนไลน์เอง เพื่ออยากให้ลูกเป็นดารา โดยในขณะที่เด็กอยู่กับคนร้ายตามลำพัง คนร้ายจะแอบใส่ยานอนหลับให้เด็ก ล่วงละเมิดเด็กๆ เหล่านั้นแล้วบันทึกภาพหรือวิดีโอเก็บเอาไว้ เพื่อนำไปเผยแพร่หรือนำไปแชร์ในกลุ่มลับบนโลกออนไลน์ต่อไป หรืออาจจะนำคลิปวิดีโอนั้นมาข่มขู่แบล็กเมล ติดต่อเหยื่อโดยอาศัยข้อมูลจากใบสมัครที่กรอกไว้ ทำให้เหยื่อหวาดกลัวและโอนเงินให้ ซึ่งภายหลังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมคนร้าย พบว่ากรณีถนนสู่ดวงดาวนี้ มีเด็กตกเป็นเหยื่อสูงถึง 1,000 คน
นับตั้งแต่การก่อตั้ง คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในปี พ.ศ. 2558 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้มีการจับกุมดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 212 คดี มีผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 245คน ซึ่งผู้ต้องหา 1 คน สร้างความเสียหายให้แก่เหยื่อได้ตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักพันคน และคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่สื่อออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
ข้อมูลส่วนบุคคลคือข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวตนได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ภาพถ่าย ประวัติการศึกษา ประวัติการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่ง cookie ซึ่งเป็นไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กที่ทำหน้าที่จดจำข้อมูลต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรวดเร็วและความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน แต่หากเจ้าของนำข้อมูลไปกรอกลงในแบบฟอร์มต่าง ๆ หรือเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจมีผู้ไม่หวังดีแอบคัดลอกข้อมูลนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมได้ ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ตัวอย่างเช่น การใช้ OTP หรือ One Time Password ในการตรวจสอบและยืนยันตัวตน เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลนั่นเอง
พ.ต.อ มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จากคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต และวิทยากรในห้องเรียนออนไลน์วิชา Online Privacy & Sexual Abuse ของ dtac Young Safe Internet Cyber Camp กล่าวว่า “หลายครั้งในขณะที่เราอยู่บ้าน ก็มีสายโทรศัพท์โทรมาหาเรา มาแนะนำสินค้าให้ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเขาเลย อันนี้ถือว่าเราก็เสียความเป็นส่วนตัวแล้ว หรือบางครั้งเราเข้าเว็บไซต์ เราโพสต์ภาพบนโซเซียลมีเดีย และต่อมาเราก็พบว่ามีโฆษณาหรือข้อความในเรื่องเดียวกันกับที่เราโพสต์อยู่เต็มไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ที่เราถูกนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) และข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) จึงมักมาคู่กันอยู่เสมอ”
พ.ต.อ. มรกต แสงสระคู และ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพาณิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผู้ทำงานส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มามากกว่า 16 ปี ได้ให้คำแนะนำแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อรอบคอบระมัดระวัง และตั้งข้อสังเกตก่อนตัดสินใจให้ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ดังนี้
1. ท่องให้ขึ้นใจว่า ยิ่งโพสต์และให้ข้อมูลส่วนตัวบนออนไลน์มากเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น!
สำหรับพฤติกรรมการเล่นโซเซียลมีเดียของเด็กและเยาวชนไทย มักพบการโพสต์ภาพตัวเอง โพสต์ภาพการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่ออวดเพื่อนๆ หรือบอกให้คนในโซเซียลรับรู้ เช่น ภาพบัตรประชาชนใบใหม่ หนังสือเดินทางไปต่างประเทศ หรือภาพถ่ายตนเองในช่วงเวลาต่างๆ ภาพเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงเนื่องจากมักมีการบอกโลเคชั่นหรือสถานที่ร่วมด้วย ทำให้รู้ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน หรือบ่งบอกพฤติกรรมของเรา เช่น ช่วงเวลาไหนอยู่บ้านหรือไม่อยู่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีได้
2. มีสติอยู่เสมอไม่ว่าจะเสพหรือส่ง และหากข้อมูลส่วนบุคคลหลุดไปต้องรู้วิธีจัดการ
ในทุกวันนี้ เราจะต้องมีความระมัดระวังในการให้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น บางครั้งอาจจะเป็นตัวเราเองที่ตั้งใจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นออกไป หรือบางครั้ง เราก็อาจถูกล่อลวง โดยที่ไม่รู้ตัวว่ามีข้อมูลหลุดออกไป ซึ่งหากข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมและไม่ได้รับความยินยอม สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นคือการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานของการถูกนำข้อมูลไปใช้ให้มากที่สุด และแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไป พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 คุ้มครองผู้ให้ข้อมูล ตามหลักความยินยอม ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ต้องชี้แจงข้อมูลที่จะเก็บรวมรวบ ต้องขออนุญาตเจ้าของเพื่อเข้าถึงข้อมูล ต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ต้องเก็บเป็นความลับ และเจ้าของสามารถขอลบ/ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้
3. ร้องขอความช่วยเหลือ หากถูกคุกคามจากมิจฉาชีพที่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในทางมิชอบ
เด็กและเยาวชนเกือบ 90% เลือกที่จะปรึกษาเพื่อนในวัยเดียวกัน เมื่อรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ หรือเมื่อถูกคุกคามจากการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ เพื่อนที่ให้คำปรึกษาควรปฎิบัติตนให้เป็นปกติเช่นเดิมกับเพื่อน พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น และช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้เพื่อน นอกจากนี้ ควรแนะนำให้เพื่อนที่ได้รับความเดือดร้อนได้เข้าถึงความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การพูดคุยรับฟังอย่างเข้าใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือจากพี่ๆ มูลนิธิสายเด็ก หมายเลข 1387 ตลอด 24 ชั่วโมง หากต้องการคำแนะนำเพื่อดูแลปรับสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ โทรหาสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 และหากต้องการลบภาพการละเมิดทางเพศเด็กออกจากอินเทอร์เน็ต ให้ติดต่อไทยฮอตไลน์ที่เฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์www.thaihotline.org ในกรณีที่เพื่อนต้องการแจ้งข้อมูล/เบาะแสเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ให้แจ้งที่เฟซบุ๊กเพจของคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในแต่ละจังหวัดยังมี บ้านพักเด็กและครอบครัว ภายใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่พร้อมช่วยเหลือเด็กๆ ที่ประสบปัญหาความรุนแรงและถูกละเมิดทุกรูปแบบ
เกี่ยวกับ dtac Yong Safe Internet Leader Cyber Camp
ค่ายออนไลน์ที่ดีแทคและหน่วยงานพันธมิตร ได้นำระบบ Learning Management System (LSM) มาใช้ออกแบบกิจกรรมต่างๆ ภายในค่าย เพื่อสร้างให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงตัวเอง เนื้อหาบทเรียนในYoung Safe Internet Leader Cyber Camp ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นำเอา 3 ประเด็นหลักที่เยาวชนควรรู้เท่าทันในโลกออนไลน์ อันประกอบด้วย วิชา Diversity and Cyberbullying วิชา Anatomy of Fake News และวิชา Online Privacy and Sexual abuse พิเศษไปกว่านั้น ยังมีวิชาให้เด็กๆ ได้เสริมสร้างทักษะ Digital Skill เฉพาะด้านที่น่าสนใจมากมาย เช่น วิชา Chatbot วิชา Board Game วิชา Data Visualization วิชา Story telling และวิชา A.I เป็นต้น นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ระบบจะมีการออกใบรับรอง (Certificate) หรือประกาศนียบัตรแต่ละวิชาให้อีกด้วย ซึ่งสามารถสมัครและเข้าเรียนวิชาต่างๆเหล่านี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป ทาง www.safeinternet.camp
อ่าน: 2,043
Comments
comments