ผู้บริโภคขวัญผวายังไม่ทันหายดีกับดีลทรูควบดีแทค ต้องมาตกใจกับข่าวใหญ่วันก่อนที่อยู่ดี ๆ AIS ก็ออกมาประกาศเสนอซื้อกิจการ 3BB ไปบริหารจัดการเอง ซึ่งถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นจริงในประเทศนี้การสื่อสารคมนาคมทั้งมีสายและไร้สายจะเข้าสู่ยุคของการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ 2 กลุ่ม โดยมีค่ายทางเลือกอย่าง NT เป็นไม้ประดับ
ถามถึงผลกระทบกับผู้บริโภค แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับการทำตลาดในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมเพราะผู้เล่นลดลงทั้งเน็ตบ้านและเน็ตมือถือ วันนี้ TelecomLover จะนำเสนอความแตกต่างของทั้ง 2 ดีลนี้เพื่อดูรายละเอียดในเชิงลึกว่าถ้าทาง กสทช. ปล่อยให้ควบหรือเทคขึ้นมาจริง ๆผลกระทบจะโดนที่ใคร มากน้อยอย่างไร
เปิด 3 ประเด็นที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่าง 2 ดีลยักษใหญ่
1 ประเด็นเรื่องการผูกขาด
การผูกขาดเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคหมดทางเลือก คือไม่เลือกซ้ายก็โดนบังคับโดยปริยายให้เลือกขวา จะเห็นได้ว่า ดีล AIS และ 3BB ไม่ได้สร้างการผูกขาด เหมือนดีลควบรวมทรู–ดีแทค เพราะหากพิจารณาดูจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่ 4 ราย ประกอบด้วย ทรูที่มีลูกค้า 4.73 ล้านราย มีมาร์เก็ตแชร์ 43.1% 3BB มีลูกค้า 2.42 ล้านราย มีส่วนแบ่งในตลาด 22.1% บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มีลูกค้า 1.95 ล้านราย มีส่วนแบ่งในตลาดเน็ตบ้านถึง 17.8% ส่วน AIS Fibre มีลูกค้า 1.865 ล้านราย มีส่วนแบ่งในตลาด 17% ดังนั้น หาก AIS และ 3BB ได้รับการอนุญาตจากกสทช. ก็จะทำให้ AIS มีลูกค้าเน็ตบ้านในมือรวมทั้งหมดเป็น 4.29 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาด 39.1% ก็ยังไม่ได้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 แทนทรูออนไลน์ที่ยังครองแชร์ถึง 43.1% ซึ่งกินส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากกว่า
ประเด็นถัดมา หากเราพิจารณาจากขนาดตลาดและจำนวนครัวเรือนที่มีการใช้งาน จากผู้ให้บริการจำนวน 4 รายแล้วลดเหลือ 3 ราย ก็ยังอยู่ในสภาวะตลาดที่ปกติ เพราะทุกรายก็สามารถแข่งขันกันได้ตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตัวเอง ประเด็นนี้แตกต่างจากการควบรวมทรูและดีแทคอย่างชัดเจนเนื่องจากตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะนี้มีผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ในตลาดแต่ยังถือว่ามีการแข่งขันไม่เต็มที่มากนัก จึงเข้าลักษณะตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market) และหากดีลทรูและดีแทคสำเร็จตลาดโทรคมนาคมจะเข้าข่ายตลาดผูกขาดโดยสมบูรณ์
ดังนั้น การรวมตลาดของค่ายมือถือส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้บริโภค เนื่องจากทรูและดีแทคจะมีลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกันเกิน 50% ของตลาดรวม ในขณะที่ตลาดเน็ตบ้านหรือ ไฟเบอร์บรอดแบนด์ หาก AIS และ 3BB รวมกัน มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 39.1%
2 ประเด็นเรื่องโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการสื่อสารรายใหม่
ดีลการควบรวมทรูและดีแทคนั้น เป็นการรวมธุรกิจที่มีภาระผูกพันที่มีสินทรัพย์มหาศาล ที่มาจากการประมูลคลื่นความถี่ และการสร้างสถานีฐาน ดังนั้น การควบรวมกิจการจึงส่งผลทำให้รายที่ควบรวมแล้วเสร็จ จะมีความแข็งแกร่งทางด้านโครงข่ายและคลื่นความถี่อย่างมาก ซึ่งในตลาดโทรคมนาคมที่มีผู้เล่นน้อยรายหากยิ่งควบรวม ก็นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะไม่เหลือคลื่นความถี่ให้ประมูล และแม้ถึงมีคลื่นความถี่ก็จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนสร้างโครงข่ายใหม่ด้วย
ส่วนในตลาดบรอดแบนด์ เป็นเรื่องง่ายกว่า สำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่มีเงินทุนและการลงทุนที่น้อยกว่าเนื่องจากบริการบรอดแบนด์ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้เป็นผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และการทำตลาดบรอดแบนด์สามารถจำกัดพื้นที่ให้บริการได้ เช่น เปิดให้บริการเป็นบางพื้นที่ เช่นหัวเมืองใหญ่ หรือระดับตัวเมืองและสามารถเช่าใช้โครงข่ายหลักที่มีอยู่ได้จากกองทุน DIF และ JASIF และตลาดไฟเบอร์บรอดแบนด์ยังขยายตัวได้อีกมาก เพราะมีอัตราส่วนต่อจำนวนประชากร (Penetration) ต่ำกว่า 60% ขณะที่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 145% ถือว่าเข้าสู่ตลาดอิ่มตัวแล้ว
3 ประเด็นผลกระทบจากรูปแบบของดำเนินกิจการหลังควบหรือเทคสำเร็จ
เรื่องการมีอยู่ขององค์กร ก่อนและหลังความเปลี่ยนแปลงเจ้าของนั้นก็มีความสำคัญ จะเห็นว่า การเข้าซื้อหุ้นของ AIS และ 3BB ต่างกับการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค เพราะทำให้บริษัทเดิม (truemove h & dtac ) หายไป แต่การเข้าซื้อหุ้น JAS ของ AIS ทำให้เสถียรภาพขององค์กรทั้งสองยังคงอยู่และดำเนินต่อไปอย่างเดิม ไม่ได้ยุบหรือเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น การบริหารงาน การใช้งานก็ยังคงดำเนินไปต่อ และช่วยเสริมการแข่งขันของตลาดที่มีผู้เชี่ยวชาญไว้ได้ อย่างก่อนนี้ AIS ก็เคยไปซื้อกิจการ CS-Loxinfo มาบริหารเอง และ ทุกวันนี้ก็ยังแยกกันทำตลาดเช่นเดียวกัน ดีล AIS และ 3BB จะทำให้ตัวเลือกของสินค้าสำหรับผู้บริโภคกว้างขึ้น เพราะชื่อ 3BB นั้นไม่ได้หายไป แต่อาจจะเน้นทำตลาดเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าในเซ็กเมนต์ที่มีความต้องการพื้นฐาน ในขณะที่ AIS Fibre คงไปจะเน้นให้บริการด้านคอนเทนต์ครบวงจร คือได้ทั้งกล่องบันเทิง ซิมมือถือ (Fix Mobile Convergence) เพื่อมาสู้กับเบอร์ 1 เน็ตบ้านอย่างทรูได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การตรงไปตรงมาในกระบวนการแจ้งขั้นตอนการซื้อหุ้นต่อกสทช. จะเห็นว่าทาง AIS ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน จะเป็นคนละรูปแบบจากทรู ดีแทค ที่ไปจดทะเบียนบริษัทใหม่มาก่อน แล้วค่อยแจ้งเพื่อทราบ มิใช่การขออนุญาตด้วย ซึ่งยังคงเป็นประเด็นข้อถกเถียงในแง่ความชอบด้วยกฎหมาย
สรุป ถ้าดูจาก 3 ประเด็นที่ยกมา ผลกระทบที่เกิดจากการซื้อ 3BB นั้นมีน้อยกว่าการควบทรูดีแทคเพราะผู้เล่นในตลาดยังมี NT ที่มีโครงข่ายไฟเบอร์ที่แข็งแรงกระจายอยู่ทั่วประเทศ และคงไม่เสียส่วนแบ่งจากจุดแข็งในข้อนี้ไปง่าย ๆ และ ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ซื้อกิจการ 3BB ไปแล้วรวมกันกับ AIS Fibre ก็ยังไม่สามารถโค่นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ทรูออนไลน์มีอยู่เป็นเบอร์ 1 ไปได้ โอกาสในการเกิดผู้ให้บริการรายใหม่ก็ยังเกิดขึ้นได้เพราะเน็ตบ้านต้นทุนหรือการลงทุนต่ำกว่ามากถ้าเทียบกับการเป็นผู้ให้บริการไร้สายที่มีทั้งค่า license และค่าเช่าเสาและอุปกรณ์แล้วปิดประตู 100% ผู้เล่นรายใหม่ไม่มีทางเกิดมาแข่งขันได้เลย และถ้าทั้งสองดีลนี้ผ่านหรือสำเร็จ จะทำให้ทรูกลายเป็นผู้ให้บริการที่มียอดผู้ใช้งานทั้งมือถือและเน็ตบ้านมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ทาง กสทช. จะคิดเห็นเป็นอย่างไรกับอภิมหาดีลนี้ ที่จะเปลี่ยนหน้าตาหรือ landscape วงการโทรคมไปอย่างถาวร..