โซลาร์ ดี คอร์ปอร์เรชัน (Solar D) ผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมระบบจัดเก็บและจัดการพลังงานไฟฟ้าสุดล้ำหนึ่งเดียวในไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ บริษัท ซิปโคด จำกัด ร่วมลงนามสัญญาการให้บริการติดตั้งระบบอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา Solar Rooftop ภายในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย พร้อมมอบ Tesla Powerwall สนับสนุนการศึกษาด้านพลังงาน ต่อยอดสู่การพัฒนาและยกระดับชีวิตนักศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นายสัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลาร์ ดี คอปอเรชัน จำกัด กล่าวว่า เราในฐานะผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาแบบครบวงจร พร้อมนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศที่มีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี ที่มีลูกค้าของบริษัททั้งภาคอุตสาหกรรม คอร์ปอเรท บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงลูกค้าผู้อยู่อาศัย เราภูมิใจและยินดีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพให้ความไว้วางใจเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา สำหรับการติดตั้งแผง Solar Rooftop โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ โซลาร์ ดี และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไฟฟ้า พร้อมสร้างสรรค์โลกที่มีพลังงานทดแทนและลดการใช้พลังงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษให้มากที่สุด ซึ่งการติดตั้งระบบ Solar Rooftop ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของมหาวิทยาลัย และส่งผลให้มีการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้อย่างมั่นคง อีกทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับสถานศึกษา ตลอดจนถือเป็นการนำร่องสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และความสามารถในการลดการใช้พลังงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษให้กับชุมชนของมหาวิทยาลัยฯ และสังคมอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ด้าน นายสันติ ศรีชวาลา กรรมการผู้จัดการและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โซลาร์ ดี คอปอเรชัน จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเทรนด์พลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในระดับอุตสาหกรรม ห้างร้าน ไปจนถึงครัวเรือนทั่วไปและสถานศึกษา ที่เริ่มหันมาให้ความสนใจติดโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เองกันมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคที่ค่าไฟแพง ซึ่งสำหรับ โซลาร์ ดี เราโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ คือ เราสามารถให้บริการได้แบบครบวงจร โดยครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การติดตั้ง การซ่อมบำรุง หรือแม้แต่กระทั่งการจำหน่ายแผงโซล่าร์ โดยทีมงานวิศวกรระดับมืออาชีพ รวมถึงการมีทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นระบบหุ่นยนต์ติดตั้งที่ทำให้ทำงานได้เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า ซึ่งถือเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่มีระบบนี้ ไปจนถึงการคิดค้นและผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการติดตั้ง ซึ่งช่วยให้การใช้งานของลูกค้าดีขึ้น สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ ที่ติดตั้งบนหลังคาของอาคารภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต มีขนาดรวมติดตั้งทั้งหมด 4 เมกกะวัตต์ ใช้แผงจำนวนทั้งสิ้น 6,429 แผง โดยมีอนาเขตพื้นที่วางแผงบนอาคารทั้งหมดในมหาวิทยาลัยฯ โดยกำลังผลิตจะครอบคลุมและตอบโจทย์ลักษณะการใช้ไฟ โดยคาดว่าการติดตั้งแผง Solar Rooftop ในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ
5.67 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 50% ของยอดการใช้ไฟรายปี อีกทั้งยังสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ในปริมาณ 2,857 ตันต่อปี และด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าทั้งในแง่ของการประหยัดค่าไฟฟ้าและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปในอนาคต

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รองอธิการบดีสายการคลังและกลยุทธ์องค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และกรรมการบริหาร บริษัท ซิปโคด จำกัด พร้อมด้วย นางสาวรุ้ง วงศ์สมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิปโคด จำกัด และ ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าร่วมลงนามสัญญาเพื่อบันทึกข้อตกลงร่วมกัน สำหรับบริการติดตั้ง Solar Rooftop ในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตลอดจนมีการร่วมพูดคุยถึงวิสัยทัศน์และเหตุผลที่เลือกติดโซล่าเซลล์

โดยเหตุผลที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเลือกใช้บริการจาก โซลาร์ ดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่ผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ ไม่เคยหยุดพัฒนา และพร้อมก้าวสู่โลกแห่งยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับ โซลาร์ ดี ในเรื่องความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม การสร้างสรรค์และดีไซน์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โซลาร์ ดี ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีการเติบโตเป็นอย่างมาก จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและกลุ่มธุรกิจหลากหลาย จึงเป็นเหตุผลในการสร้างแรงจูงใจให้ทางมหาวิทยาลัยฯ เลือกใช้บริการจาก โซลาร์ ดี ตลอดจนความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้บรรลุเป้าหมายในด้านพลังงานหมุนเวียนร่วมกัน

 

ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัยนั้นดีขึ้น รวมถึงนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ เกิดการนำเทคโนโลยีมาสร้างกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การเรียนการสอน ตลอตจนปลูกฝังให้นักศึกษามีความเข้าใจ มีส่วนร่วมในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เราจึงได้ลงนามสัญญาร่วมกับ โซลาร์ ดี คอร์ปอร์เรชัน เพื่อติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของอาคารภายในมหาวิทยาลัยฯ สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมุ่งเน้นการผลิตพลังงานสะอาดเพื่อใช้เองภายในมหาวิทยาลัยฯ หวังลดต้นทุนค่าไฟฟ้า พร้อมเป็นตัวอย่างให้สังคมและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ได้รับรู้ถึงความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล็งเห็นว่า โซลาร์ ดี นอกจากจะมีดีไซน์ที่สวยงามแล้ว ยังตอบโจทย์ในด้านประสิทธิภาพที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย เชื่อถือได้ อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ชำนาญการ พร้อมดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า และสามารถบริหารจัดการพลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด

“ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอีกขั้นของ โซลาร์ ดี ที่สามารถส่งมอบโซลูชันในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าเชื่อถือและสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ และเราภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางอันยั่งยืนในการบรรลุเป้าหมายด้านการใช้พลังงานทดแทนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ” นายสัมฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.solar-d.co.th/why-solar-d หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้แก่ Facebook: Solar D, Line: Solar D หรือโทรฯ 02 026 3099

 

Comments

comments