NT จุดประกายความร่วมมือ สวทช. บูรณาการศักยภาพทรัพยากรและเทคโนโลยี ต่อยอดด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง และเอไอ พร้อมเยี่ยมชมลันตาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (LANTA)
พ.อ. สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นำคณะผู้บริหาร NT เข้าเยี่ยมชมศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center : ThaiSC ) และ“LANTA” ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย พร้อมร่วมประชุมหารือกับ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมด้วย ดร. ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) ณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
พ.อ. สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กล่าวว่า NT ได้ร่วมกับ สวทช.หารือแนวทางบูรณาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน โดยศักยภาพของ NT คือบริการโทรคมนาคมและระบบคลาวด์อันเป็นทรัพยากรหลักของประเทศ รวมถึงบริการดิจิทัลโซลูชันของ NT ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งสามารถผนวกกับความพร้อมด้านการวิจัยของ สวทช. เพื่อเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ ในอนาคต โดยเน้นความร่วมมือด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเอไอ ทั้งระดับงานวิจัยและการต่อยอดเชิงพาณิชย์
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมือระดับนโยบายครั้งแรกระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่ง สวทช. พร้อมร่วมมือกับ NT ต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่แล้วคือคลาวด์คอมพิวติ้งและเอไอ โดยเฉพาะบริการคลาวด์คอมพิวติ้งนับเป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญมากซึ่งคลาวด์ไทยจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางใหม่ที่ทันกับการแข่งขันในปัจจุบัน โดยมีแนวทางใช้สถานะความเป็นภาครัฐของ สวทช. และ NT ยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน รวมถึงบริษัทลูกในการขยายขอบเขตการให้บริการและฐานลูกค้า เพื่อตอบสนองการเติบโตของธุรกิจคลาวด์ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ สวทช. มีหน่วยวิจัย NECTEC และศูนย์ ThaiSC ซึ่งมีความพร้อมทั้งบุคลากรนักวิจัย เทคโนโลยี และเครื่องมือวิจัยด้านวิทยาการคำนวณ (Computational Science) ด้วยระบบ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC) ติดอันดับ 94 ของ Fastest Supercomputer และอันดับ 30 ของ TOP500 List Greenest Supercomputer ในปี 2023 ด้วยระบบเครือข่ายความเร็วสูง HPE Slingshot Interconnect 200 Gbps และพื้นที่เก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูง Cray ClusterStor E1000 12 PB ใช้ในการพัฒนางานวิจัยและการทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ด้านเคมี ชีวภาพ ภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า ฯลฯ สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และรองรับโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศ ในโครงการที่สำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ โครงการสร้างแบบจำลองมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือประเทศไทย การิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม เป็นต้น ซึ่งศักยภาพด้านการวิจัยของ สวทช. ดังกล่าวจะรองรับการสานต่อความร่วมมือกับ NT ในการพัฒนาโซลูชันด้านดิจิทัลทรานสฟอร์มให้กับลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่อไป