บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ลุยขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ผ่านการพัฒนาระบบงานต่างๆ ด้วยหลัก ESG+E ตามวิสัยทัศน์ Delivering Sustainable Growth through Postal Network – ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ พร้อมแผนเดินหน้าธุรกิจดิจิทัลที่ต่อยอดมาจากธุรกิจดั้งเดิม สู่การเป็น Information Logistics
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้ไปรษณีย์ไทย ครบรอบ 141 ปี พร้อมมุ่งสู่แผนงานสร้างการเติบโตด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่การเป็นองค์กรที่พร้อมส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ – Delivering Sustainable Growth through Postal Network โดยได้วางกรอบการดำเนินงานที่จะเป็นผู้ให้บริการขนส่งและสื่อสารที่ขับเคลื่อนระบบงานต่างๆ ด้วยหลัก ESG+E คือ Environment, Social, Governance และ Economy ผ่านแผนงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 และในไตรมาส 4 ของปีนี้จะมีการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ในระบบงานไปรษณีย์เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 85% ภายในปี 2573 ครบทั้งหมด 100% ภายในปี 2583 และยังอยู่ระหว่างยังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับระบบขนส่งเพิ่มเติม
ด้านสังคม สร้างชุมชนที่ยั่งยืนด้วยโครงการ “ไปรษณีย์เชื่อมสุข” ที่มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังชุมชนที่สำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า ให้กลุ่มเกษตร กลุ่ม SMEs และกลุ่มเปราะบางทางสังคมผ่านแพลตฟอร์ม ThailandPostMart โดยที่ผ่านมาช่วยสร้างรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์มากกว่า 600 ล้านบาท/ปี และตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้สนับสนุนเกษตรกรไทย ในการขนส่งผลไม้และพืชผลทางการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 100,000 ตัน ครึ่งปีแรกของปี 2567 นี้มีปริมาณการฝากส่งผลไม้ไทยยอดนิยมผ่านบริการ EMS ส่งด่วนทั่วไทย กว่า 18 ล้านกิโลกรัม ด้านการกำกับดูแลกิจการ ให้ความสำคัญกับการรักษา ปกป้อง และใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน พร้อมมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร และพัฒนาธุรกิจเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไปรษณีย์ไทยมุ่งที่จะก้าวสู่การเป็น Information Logistics มีบริการ Prompt Post บริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการยุคดิจิทัล โดยมี 4 บริการหลัก คือ Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล Digital Postbox การจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ One-stop service การสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว Prompt pass บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บริการ Postman Cloud ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ที่มีกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ ให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ Express บริการ รับ-ส่ง สิ่งของ แบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร Matching บริการเชื่อโยง Demand และ Supply อีกหนึ่งบริการสำคัญ คือ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคล ในรูปแบบการจ่าหน้าแบบใช้รหัส ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ
นอกจากธุรกิจใหม่ที่ไปรษณีย์พร้อมเดินหน้าแล้ว กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลัก ยังเน้นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้าใหม่ รวมทั้งการเข้าไปเป็นผู้ขนส่งให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แพลตฟอร์ม Tiktok Shopee และ Lazada โดยบริการที่มีการเติบโตโดดเด่นสุดคือ บริการส่งด่วน EMS ในประเทศ ที่มีปริมาณสิ่งของฝากส่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 12.92% จากแรงบวกของการค้าออนไลน์ ค้าปลีก และความน่าเชื่อถือของบริการที่รวดเร็ว ปลอดภัย ตอบสนองรูปแบบการส่งได้หลากหลายประเภท และยังเติบโตในด้านเครือข่ายจุดให้บริการที่มีถึง 50,000 แห่งทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
อ่าน: 1,369
Comments
comments