การจัด Public Hearing หรือการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยก่อนนี้ทาง กสทช. ได้นำเสนอร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีการจัดประมูลในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2568 อันเนื่องมาจากคลื่นความถี่ในสัมปทานเดิมกำลังจะสิ้นสุดลง
ในการประชุม Public Hearing เช้านี้ ได้มีการเสนอความคิดเห็นจากตัวแทนภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนมุมมองที่รอบด้านเกี่ยวกับราคาตั้งต้น (Reserved Price) และความสำคัญของคลื่นความถี่ต่ออนาคตของเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย
คลื่น 1800 MHz: ความเหมาะสมของราคาเริ่มต้น (Reserved Price)
ผศ.ดร.วิทวัส สิฎฐกุล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. ควรตั้งราคาคลื่น 1800 MHz ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและความเป็นจริงของอุตสาหกรรม
เขาอธิบายว่า ความต้องการคลื่น (demand) และปริมาณคลื่นที่มีอยู่ (supply) ในปัจจุบัน แตกต่างจากการประมูลครั้งก่อนๆ หากตั้งราคาเริ่มต้นไว้สูงเกินไป โดยคำนึงถึงเพียงมิติ 3 ด้าน ได้แก่ ต้นทุนเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายของรัฐ และประโยชน์ที่รัฐควรได้รับ โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าทางธุรกิจ อาจส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงจนไม่สามารถลงทุนพัฒนาเครือข่ายต่อได้เต็มที่
หากราคาประมูลสูงเกินไป โอเปอเรเตอร์อาจลดการลงทุนในโครงข่าย ทำให้คุณภาพบริการลดลง และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องการใช้งานเครือข่ายคุณภาพสูง
คลื่น 3500 MHz: มาตรฐานสากลของ 5G และผลกระทบต่อประชาชน
นราพล ปลายเนตร ตัวแทนภาคประชาชนและอดีตพนักงานบริษัทโทรคมนาคม ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของคลื่น 3500 MHz โดยระบุว่า คลื่นนี้ถือเป็น คลื่นพื้นฐานสำหรับ 5G ทั่วโลก
หากประเทศไทยสามารถใช้ คลื่นที่เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศอื่นๆ จะช่วยให้ อุปกรณ์โทรคมนาคมและสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G มีราคาถูกลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลกมักมีราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิตเฉพาะสำหรับบางประเทศ
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า หาก กสทช. และรัฐบาลกำหนดราคาคลื่นและค่าบริการให้เหมาะสม ประชาชนจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเสียเงินซื้อโทรศัพท์ราคาแพงโดยใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
มุมมองจากภาคอุตสาหกรรม: Ecosystem ที่สมบูรณ์ของ 3500 MHz
วิลาส วงศ์แจ่มบุญ ตัวแทนจากบริษัท ZTE ได้กล่าวถึงความสำคัญของ การนำคลื่น 3500 MHz เข้าสู่การประมูลโดยมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะ ขับเคลื่อน 5G ให้ก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล
เขาอธิบายว่า คลื่น 3500 MHz มี ecosystem ที่สมบูรณ์ที่สุดในกลุ่มคลื่นความถี่กลาง (mid-band) สำหรับ 5G ซึ่งหมายความว่า อุปกรณ์เครือข่าย อุปกรณ์ IoT และโซลูชันด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนรองรับคลื่นความถี่นี้ หากประเทศไทยไม่สามารถนำคลื่นดังกล่าวออกมาใช้งานได้ จะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตุบนความแตกต่างของราคาคลื่น 2300 MHz และ 2600 MHz ที่กสทช.กำหนด
การกำหนดราคาประมูลคลื่นความถี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแข่งขันและการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย กรณีของคลื่นความถี่ 2300 MHz และ 2600 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ใกล้เคียงกันและใช้เทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) เหมือนกัน ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม ไม่เอื้อประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด การกำหนดราคาประมูลคลื่น 2300 MHz ที่ต่ำเกินไปอาจทำให้ผู้ให้บริการที่มีการใช้งานคลื่นนี้อยู่แล้วได้เปรียบในการประมูล เนื่องจากสามารถเข้าถึงคลื่นเพิ่มเติมด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ในมือของผู้ให้บริการรายใหญ่ และลดโอกาสของผู้ให้บริการรายใหม่ในการเข้ามาแข่งขันในตลาด
ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
จากการประชุม Public Hearing ครั้งนี้ พบว่า ทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่า การกำหนดราคาประมูลคลื่นควรสะท้อนสภาพตลาดและความเป็นจริงของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม หรือประชาชน
ประเด็นราคาค่าคลื่น กสทช. ควรพิจารณาการตั้งราคาคลื่น 1800 MHz ให้สอดคล้องกับมูลค่าทางธุรกิจ เพื่อป้องกันภาระต้นทุนที่อาจส่งผลต่อการลงทุนด้านเครือข่าย และประเทศไทยควรนำคลื่น 3500 MHz มาประมูลให้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ 5G และลดต้นทุนอุปกรณ์ของประชาชน นำมาซึ่งราคาค่าบริการและค่าอุปกรณ์ควรเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ได้ง่ายขึ้น
และที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการได้เปรียบของผู้ให้บริการรายเดิม กสทช. ควรกำหนดราคาประมูลคลื่น 2300 MHz ให้สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริงของคลื่น และพิจารณาเปรียบเทียบกับคลื่น 2600 MHz ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน การกำหนดราคาที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ให้บริการทุกรายมีโอกาสเข้าถึงคลื่นความถี่อย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ
นอกจากนี้ การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่สมเหตุสมผลยังส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย เนื่องจากผู้ให้บริการจะมีความสามารถในการลงทุนขยายโครงข่ายและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการได้อย่างเต็มที่ การพิจารณาและกำหนดราคาประมูลคลื่นความถี่อย่างรอบคอบและเป็นธรรมจะช่วยส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยในระยะยาวอีกด้วย