สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมจัดทำรายงานใหม่ล่าสุด เปิดเผยถึงโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการเคลื่อนไหวและกฎหมายสิทธิในการซ่อม‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์’ (Right to Repair – R2R)

แนวคิด R2R คือ การที่ผู้บริโภคควรมีสิทธิในการซ่อมผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยสามารถเข้าถึงอะไหล่ เครื่องมือ และคู่มือการซ่อมได้ ตั้งแต่เครื่องจักรกลการเกษตร ยานยนต์ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายได้กำหนดข้อจำกัดทั้งทางกายภาพ กฎหมาย และดิจิทัล เพื่อปิดกั้นการซ่อมโดยอิสระ R2R จึงมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิด้านการซ่อม พร้อมทั้งลดข้อจำกัดด้านซอฟต์แวร์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อะไหล่ทดแทนใช้งานได้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Parts Pairing’ หรือ การจับคู่ชิ้นส่วน ที่ส่งผลให้ค่าซ่อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การขาดทางเลือกของผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแรงผลักสำคัญให้ R2R เรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์สามารถซ่อมได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สิทธิและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นแก่ผู้บริโภค หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้ว และปัจจุบันมีอีก 30 รัฐที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎหมาย R2R ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งห้ามผู้ผลิตกำหนดข้อจำกัดในการซ่อม และบังคับให้ผู้ผลิตต้องจัดหาอะไหล่และเครื่องมือในราคาที่สมเหตุสมผล

การขับเคลื่อนนโยบาย R2R ในประเทศไทย

งานวิจัยฉบับใหม่นี้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการซ่อมกว่า 40 รายในกรุงเทพฯ พบปัญหาสำคัญในระบบซ่อมแซมของไทย โดย 54% ของร้านซ่อมอิสระไม่มีคู่มือการซ่อม ขณะที่ 96% ไม่สามารถเข้าถึงอะไหล่จากศูนย์บริการหรือผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาต

นายเอ็ดเวิร์ด แรตคลิฟฟ์ กรรมการบริหาร สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Mr. Edward Ratcliffe, Executive Director, Southeast Asia Public Policy Institute) กล่าวว่า “ประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่และมียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนถึง 14 ล้านเครื่องในปี 2566 คาดว่าอัตราการใช้สมาร์ทโฟนจะสูงถึง 97% ภายในปี 2572 ทำให้เป็นประเทศที่เหมาะสมสำหรับการออกกฎหมาย R2R ที่ก้าวหน้า”

งานวิจัยนี้เผยแพร่ในช่วงเวลาสำคัญ ขณะที่ “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) ของไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รายงานยังเน้นถึงความเร่งด่วนของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็น 65% ของขยะอันตรายจากชุมชน ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 450,000 ตันต่อปี ขยะจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตคิดเป็นประมาณ 25,200 ตัน แต่มีเพียง 21% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากที่จีนสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2560 ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าในไทยเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า โดยในปี 2564 ไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 28 ล้านตัน

ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้เสนอข้อแนะนำสำคัญในการพัฒนากรอบการทำงานของ R2R ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการห้ามการจับคู่ชิ้นส่วน (Parts Pairing) เพื่อให้สามารถเข้าถึงชิ้นส่วนได้ง่ายขึ้น การกำหนดราคามาตรฐาน และการให้สิ่งจูงใจสำหรับธุรกิจซ่อมแซม ข้อเสนอเหล่านี้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ของประเทศไทย (พ.ศ. 2564-2570)

ทั้งนี้ รายงานฉบับเต็มได้ทำการวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในโลกเกี่ยวกับนโยบาย R2R และได้เสนอข้อแนะนำที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทยในการพัฒนากรอบงานของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในด้านการบริโภคที่ยั่งยืนและการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค

อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ (https://seapublicpolicy.org/work/thailandr2r/)

 

เกี่ยวกับ สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Public Policy Institute)

สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Public Policy Institute) เป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสิงคโปร์ ทำงานทั่วทั้งภูมิภาค ภารกิจของสถาบันคือการสนับสนุนการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหานโยบายสาธารณะที่สำคัญที่สุดที่เผชิญอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 21 สถาบันทำงานในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เทคโนโลยี สาธารณสุข การค้า และการปกครอง โดยโดยการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ตัดสินใจเพื่อกระตุ้นการอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสที่ตลาดในภูมิภาคต้องเผชิญ

ซึ่งสถาบันใช้เครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานในตลาดที่มีประสบการณ์ ผู้ให้คำปรึกษา และพันธมิตรเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล นักนโยบาย และธุรกิจ สถาบันทำงานร่วมกับพันธมิตรในโครงการต่างๆ เพื่อสำรวจและกระตุ้นการอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายทางนโยบายผ่าน:

o   การวิจัยและการพัฒนานโยบาย – การวิจัยเชิงลึกที่ให้ข้อมูลเชิงลึกและโซลูชันนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อช่วยให้นักนโยบายขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ

o   การประชุมสนทนาและการประชุมโต๊ะกลม – การนำเสนอแนวคิดนโยบายและเริ่มการสนทนากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องที่สุดในการพัฒนานโยบายในตลาดต่าง ๆ ของภูมิภาค สถาบันก่อตั้งขึ้นบนหลักการที่ว่า การเชื่อมต่อโดยตรงและการสนทนาอย่างตรงไปตรงมาพร้อมข้อมูลที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งนักนโยบายและผู้นำธุรกิจที่ทำงานในภูมิภาคที่เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Comments

comments